การเตรียมบทความเข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ
ด้านคณิตศาสตรศึกษา ครั้งที่ 10

วัตถุประสงค์และขอบเขต

เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยทางด้านคณิตศาสตรศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชั้นเรียน การพัฒนาวิชาชีพครู และการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน

รูปแบบการนำเสนอ

1. การนำเสนอแบบ Poster Presentation
2. การนำเสนอแบบ Oral Presentation
หมายเหตุ
ผู้ที่จะนำเสนอผลงานวิจัย ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมคณิตศาสตรศึกษา

การพิจารณาและคัดเลือกบทความ

บทความแต่ละบทความจะได้รับพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองบทความวารสาร (Peer Review) จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบจากกองบรรณาธิการก่อนตีพิมพ์ โดยการพิจารณาบทความจะมีรูปแบบที่ผู้พิจารณาบทความไม่ทราบชื่อหรือข้อมูลของผู้เขียนบทความ และผู้เขียนบทความไม่ทราบชื่อผู้พิจารณาบทความ (Double – Blind Peer Review)

การเตรียมบทคัดย่อ

ดาวน์โหลด Abstract Template: WORD ,PDF
1. บทคัดย่อแสดงถึงความรวมอย่างกระชับของเนื้อหางานวิจัย ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ของการวิจัย กลุ่มเป้าหมาย ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิจัย วิธีการดำเนินการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัย หรือข้อสรุปจากงานวิจัย เป็นต้น
2. ผู้เขียนควรใช้ภาษาทางวิชาการที่กระชับรัดกุม ให้จัดพิมพ์บทคัดย่อในอยู่ใน 1 หน้ากระดาษ จัดพิมพ์ด้วยตัวอักษร TH Sarabun New ขนาด 14 ธรรมดา โดยให้ระยะบรรทัดเป็น 1.0 จัดไฟล์เป็น Microsoft Word 2007 ขึ้นไป
3. กำหนดชื่อไฟล์ดังนี้ สำหรับผู้ที่จะนำเสนอแบบ Oral Presentation ให้กำหนดชื่อไฟล์ดังตัวอย่างคือ Abstract_OP_Rachada.docx และสำหรับที่ผู้ที่จะนำเสนอแบบ Poster Presentation ให้กำหนดชื่อไฟล์ดังตัวอย่างคือ Abstract_PP_Rachada.docx
4. ให้ผู้เขียนลงทะเบียนและส่งบทคัดย่อนี้ทาง Online Submission เท่านั้นทาง https://www.tsmed.or.th
ทั้งนี้ผู้ที่จะนำเสนอผลงานจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมคณิตศาสตรศึกษาด้วย

การเตรียมบทความฉบับเต็ม

ดาวน์โหลด Full Paper Template: WORD ,PDF
ส่วนประกอบของการเขียนบทความ
      1) ชื่อเรื่องภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ใช้ตัวอักษร TH Sarabun New ขนาด 18 ตัวหนา
      2) บทคัดย่อ
      3) บทนำ บทนำให้เริ่มต้นเขียนโดยขึ้นหน้าที่สองของบทความฉบับเต็ม (ใช้อักษร TH Sarabun New ขนาด 14) ความยาวอยู่ระหว่าง 8-10 หน้ากระดาษ A4 รวมรายการอ้างอิง
      4) หัวเรื่องหลัก ในการจัดพิมพ์เนื้อความในหัวเรื่องหลักให้ใช้อักษร TH Sarabun New ขนาด 14 โดยเคาะ 1 ครั้งเพื่อย่อหน้าในบรรทัดแรก ส่วนบรรทัดอื่นๆ ให้ชิดขอบตามที่กำหนดขอบกระดาษทั้งซ้ายและขวา กรุณาปฏิบัติตามรูปแบบที่กำหนดเพื่อความมั่นใจว่าข้อความจะไม่หลุดหายไปจากหน้ากระดาษเมื่อได้รวมเล่มแล้ว
      หัวเรื่องหลัก ควรครอบคลุมองค์ประกอบของบทความวิจัยหลักๆ ได้แก่ บทนำ วัตถุประสงค์ของการวิจัย นิยามศัพท์เฉพาะ การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างกระชับ ระเบียบวิธีวิจัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการวิจัย การอภิปรายผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ กิตติกรรมประกาศ เอกสารอ้างอิง นอกจากหัวข้อดังกล่าวให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้วิจัย
      กรณีมีการใช้ภาพ ให้ใช้คำว่า “ภาพ.... แสดง...............................” พิมพ์ใต้ภาพลงมาอีก 1 เคาะ จัดตำแหน่งตรงกลางของกระดาษ และไม่ควรใช้ภาพที่มีขนาดเล็ก หรือใหญ่เกินไป ต้องเป็นภาพที่มีความคมชัด
      กรณีมีตาราง ให้ใช้คำว่า “ตาราง..... แสดง...................................” พิมพ์เหนือตาราง 1 เคาะ และถ้ามีตารางต่อในหน้าถัดไป ให้มีหัวตาราง โดยเขียนว่า “ตาราง....(ต่อ)” พิมพ์เหนือตาราง 1 เคาะ
      หัวเรื่องรอง (หากมี ให้ใช้อักษร TH Sarabun New ขนาด 14 ตัวหนา)
      5) เอกสารอ้างอิง การอ้างอิงในเนื้อหา: ให้ใช้ระบบ นาม-ปี โดยภาษาไทย ให้ใช้ (ชื่อ-นามสกุลผู้แต่ง, ปี) เช่น (ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, 2557) สำหรับภาษาอังกฤษให้ใช้นามสกุล (นามสกุลผู้แต่ง, ปี) เช่น (Inprasitha, 2014)
      ผู้แต่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องของเอกสารอ้างอิงทั้งหมด วิธีการพิมพ์กำหนดให้ใช้ตัวอักษร TH Sarabun New ขนาด 14 จัดชิดขอบซ้าย ให้เรียงตามลำดับชื่อผู้แต่งตามตัวอักษร ตามแบบ APA (APA Style) สามารถหาข้อมูลหลักการอ้างอิงเพิ่มเติมได้ที่ http://gsbooks.gs.kku.ac.th/50/manualthesis/ (ให้ใช้ตามหลักการของบทที่ 5) รายการอ้างอิงทั้งหมดรวมอยู่ใน 8-10 หน้ากระดาษแล้ว